คนไทยผูกพันกับปลากัดมาแต่โบราณกาล พัฒนาการมาถึงขั้นขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรม สัตว์น้ำประจำชาติ แต่ความเจริญ กำลังทำให้ปลากัดตามแหล่งน้ำลดจำนวนจนเสี่ยงสูญพันธุ์
ที่สำคัญบ้านเรายังไม่มีกฎหมายคุ้มครอง พันธุ์สัตว์ สุ่มเสี่ยงถูกต่างชาตินำไปปรับปรุงพันธุ์ ขึ้นทะเบียนเป็นพันธุ์ของตัวเอง
“จะทำอย่างไร ถ้าวันหนึ่งปลาประจำชาติ เราถูกต่างชาติยื่นจดทะเบียนพันธุ์ เป็นอีกโจทย์ที่ต้องรีบแก้ไข เพราะเรามีแต่ข้อมูลสายพันธุ์ ถนัดพัฒนาสายพันธุ์ให้หลากหลาย แต่พันธุ์ที่นำมาผสม พันธุกรรมเสื่อมถอยลงเรื่อยๆจาก เลือดชิด ส่วนปลากัดในแหล่งธรรมชาติ ถูกการถมแหล่งน้ำ ตัดถนน หมู่บ้านจัดสรรรุกราน”
รศ.ดร.ครศร ศรีกุลนาถ ประธานโครงการ ทรัพยากรชีวภาพปลากัดแห่งชาติ (National Betta BioResource Project : NBBRP) บอกถึงที่มาของโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสมาคมปลากัด เพื่อแก้ปัญหาที่กำลังคุกคามสัตว์น้ำประจำชาติ และต้องการสะท้อนให้เห็นว่า ปลากัดไทยจะไม่ใช่แค่สัตว์น้ำประจำชาติเพียงอย่างเดียว
ต้องเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจประจำชาติไทยของเกษตรกรไทยด้วย จึงจะยั่งยืนตลอดไป
นอกจากนั้นยังถือเป็นครั้งแรกของการรวบรวมองค์ความรู้ทั้งหมดที่เกี่ยวกับปลากัดไทย มุ่งเป้าเป็นศูนย์รวบรวมฐานข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ อนุกรมวิธาน เอกลักษณ์ทางพันธุกรรม นิเวศวิทยา การแพร่กระจายของปลากัด ความรู้ ภูมิปัญญาต่างๆ ทั้งในเรื่องของการปรับปรุงพันธุ์ ขยายพันธุ์ ในรูปแบบหนังสือ เก็บรักษาเอกลักษณ์ทางพันธุกรรมของปลากัด ด้วยเทคโนโลยีการแช่แข็งเซลล์และเก็บดีเอ็นเอ และเพื่อยกระดับงานวิจัย เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของปลากัดให้มากขึ้น สนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางปลากัด และปลาสวยงามของโลก
สอดคล้องกับแผนงานวิจัย “การวิจัยเพื่อการอนุรักษ์เอกลักษณ์ทางพันธุกรรมปลากัดพื้นเมืองอย่างยั่งยืน และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพเชิงเศรษฐกิจ” ที่มีก่อนหน้านี้
โดยขั้นต้นจะโฟกัสไปที่ปลากัดป่ามหาชัย ที่มีเฉพาะถิ่นที่เดียวในโลก พบได้แค่ เขต จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ และเขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ...กำลังเสี่ยงต่อภาวะจากความเจริญทางวัตถุของมนุษย์ และน้ำเสียจากอุตสาหกรรม และขยายต่อไปยังปลากัดทุกสายพันธุ์ของไทย
ล่าสุดภายใต้ความร่วมมือกับบริษัทวิชูโอ ไบโอเมดิคอล (ไทยแลนด์) ทางโครงการประสบความสำเร็จในการถอดรหัสพันธุกรรมของจีโนมไมโทคอนเดรียที่สมบูรณ์ของปลากัดป่ามหาชัยเป็นครั้งแรกของโลก โดยจีโนมไมโทคอนเดรียมีขนาด 16,980 คู่เบส และพบข้อมูลสำคัญ เพื่อใช้สนับสนุนจัดทำฐานข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ อนุกรมวิธาน เอกลักษณ์ทางพันธุกรรม และการแพร่กระจายของปลากัด ป่า ซึ่งอาศัยอยู่ในแหล่งธรรมชาติของไทย
“เราต้องการให้โครงการเป็นศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ เพื่อรวบรวมทุกอย่างเกี่ยวกับปลากัด ทั้งปลากัดป่า ปลากัดสวยงาม พัฒนาสู่ธนาคารสายพันธุ์ อันนำมาสู่การพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลากัดป่า โดยเฉพาะปลากัดป่ามหาชัย ที่เพิ่งค้นพบรหัสพันธุกรรม ทดแทนการจับจากธรรมชาติ ต่อยอดสู่การโคลนนิงปลากัดเป็นครั้งแรก และสามารถเผยแพร่งานวิจัยในเวทีวิชาการระดับโลก ทำให้เกิดมาตรฐาน เกิดบท บัญญัติต่างๆในการคุ้มครองอนุรักษ์ปลากัดไทย แล้วนำไปเป็นแนวทางให้กับสัตว์อื่นๆ ฉะนั้นขอเชิญชวนผู้ที่มีปลากัดสายพันธุ์ดี แปลกหายาก เข้ามาร่วมโครงการวิจัยเพื่อความยั่งยืน ของปลากัดไทย”.
กรวัฒน์ วีนิล
อ่านเพิ่มเติม...
July 22, 2020 at 07:01AM
https://ift.tt/3hgAgLU
NBBRP โปรเจกต์เพื่อปลากัดไทย - ไทยรัฐ
https://ift.tt/2UMPY8X
Home To Blog
No comments:
Post a Comment