Pages

Tuesday, June 16, 2020

กล้าลองกล้าลุย : เกาะติดวิถีคนหาปลานำมาแปรรูปขาย - ช่อง 7

ikanberenangkali.blogspot.com
กล้าลองกล้าลุยวันนี้ ต้นกล้า ชัยอนันต์ จะพาไปลุยเกาะติดวิถีชาวบ้าน 2 ภาค 2 จังหวัดเลย คือภาคเหนือที่จังหวัดน่าน และภาคอีสานที่จังหวัดนครพนม กับการ "เกาะติดวิถีคนหาปลานำมาแปรรูปขาย" อาชีพที่ช่วยให้อยู่ได้ในยุคโควิด-19 เป็นวิถีที่เรียบง่าย และอยู่คู่กับผู้คนมาช้านาน ไปติดตามชมพร้อม ๆ กัน ในกล้าลองกล้าลุย

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ที่เราเจอกับวิกฤติโควิด-19 หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน เกือบจะทุกอาชีพเลยก็ว่าได้ ทุกคนต่างพากันปรับตัว อย่างแต่ละจังหวัดที่ไปเกาะติดมานี้เพื่อให้มีรายได้ การแปรรูปของที่มีอยู่ในท้องถิ่นเพื่อนำมาขาย จึงเป็นภาพที่เราเห็นได้ชัดเจนมากที่สุด จุดแรกที่จะพาไปลุยคือที่นี่

ที่นี่คืออำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ในหนองน้ำของหมู่บ้าน ทุกปีชาวบ้านจะร่วมกันซื้อพันธุ์ปลามาปล่อย โดยมีข้อตกลงคือ ห้ามแอบจับปลาเด็ดขาด จนเมื่อครบกำหนดช่วงที่น้ำแห้งก็จะเปิดให้ชาวบ้านมาจับปลาได้ โดยเก็บเงินตามชนิดของเครื่องมือที่จับ

อย่างยอที่เห็น ก็จะเก็บเงินที่ 50 บาท ส่วนแหเก็บเงิน 100 บาท สามารถอยู่จับปลาได้ตลอดทั้งวัน และเงินที่ได้ก็จะนำไปซื้อลูกปลา มาปล่อยเลี้ยงในปีต่อไปอีกที

ใครที่ยกยอหรือที่เรียกกันว่าตั้งจ๋ำ ได้ปลาเยอะก็ถือว่าโชคดี และคุ้มค่า ส่วนผมเองยกแล้วยกอีกวันนี้อาจจะไม่ค่อยมีโชค ยกจนปวดแขนแทบจะไม่มีแรงเหลือ ได้มาตั้งหนึ่งตัวชาวบ้านดีใจกันใหญ่

ไม่อยากจะโชว์ปลาเลยเพราะอาย ตัวเล็กนิดเดียว นี่เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกปี เน้นให้ชาวบ้านได้มาพบปะทำกิจกรรมร่วมกัน เงินส่วนที่เหลือจากการเปิดให้มาจับปลาก็นำมาพัฒนาหมู่บ้านในด้านอื่น ๆ ต่อ

จากภาพที่เห็นเค้าจับกันตลอดทั้งวันเลย ปลาที่จับได้ทั้งหมดส่วนใหญ่แล้วก็นำไปประกอบอาหาร รับประทานกันในครัวเรือน ส่วนที่เหลือก็จะแบ่งขาย หรือไม่ก็นำไปแปรรูปต่ออีกที ซึ่งการแปรรูปนอกจากจะช่วยถนอมอาหารให้เก็บรักษาไว้ได้นานแล้ว ยังถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ อีกทางหนึ่งด้วย จากภาคเหนือเราไปต่อที่ภาคอีสาน

ที่นี่คือบ้านแพง ในอำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม วิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ผูกพันกับสายน้ำโขงมาอย่างยาวนาน อีกหนึ่งรูปแบบของการหาปลาที่เรารู้จักกันดีนั่นก็คือการใช้ตาข่าย ลงไปลากดักจับปลา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าการลากมอง นั่นเอง

กลางแม่น้ำโขงจุดที่น้ำไม่ลึกมาก เราสามารถลงไปเดิน ลากมองกันแบบนี้ได้เลย

การลากมองจะแบ่งกันดึงแต่ละมุม และกระจายตามจุดต่าง ๆ พร้อมกับลากไปเรื่อย ๆ จนไปถึงบริเวณที่เป็นดอนทราย โดยใช้เวลาการลากครั้งละประมาณ 15-20 นาที ซึ่งถ้าน้ำไหลแรงและเชี่ยวก็อาจจะใช้เวลานานกว่านี้อีกเป็นเท่าตัว

ปลาที่เราหาได้ในวันนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นปลาตัวขนาดเล็ก ยาวไม่กี่เซนติเมตร ที่เราได้ปลาตัวขนาดประมาณนี้ก็เนื่องจากขนาดช่องของตาข่าย หรือมองที่ค่อนข้างถี่ และเล็ก ปลาตัวใหญ่ก็จะไม่ค่อยติด แต่ช่วงไหนที่ปลาติดเยอะมาก ๆ ชาวบ้านเค้าบอกว่าลงไปลากมองทีเดียว บางทียกแทบไม่ขึ้น

ปลาที่พวกเราหาได้ในวันนี้จากนี้ก็ต้องช่วยกันแกะออกจากตาข่าย หรือมอง อีกที

ที่จังหวัดนครพนมก็ไม่ต่างกัน วิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ ปลาเหล่านี้เมื่อเหลือจากรับประทานในครัวเรือน ก็จะนิยมนำมาแปรรูปเพื่อขายในรูปแบบอื่นต่อ ทั้งทำปลาตากแห้ง ปลาแดดเดียว ทำแหนมปลา หรือที่นิยมสุดก็คือ เอาไปทำปลาร้า สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ จนบางคนทำเป็นอาชีพหลักเลยก็มี ปิดท้ายวันนี้ด้วยเมนูต่าง ๆ จากปลาแม่น้ำโขงที่ชาวบ้านหามาได้ แต่ละเมนูยั่วน้ำลายสุด ๆ แวะไปชิมได้ที่บ้านแพง จังหวัดนครพนม

Let's block ads! (Why?)


June 17, 2020 at 09:35AM
https://ift.tt/37Anows

กล้าลองกล้าลุย : เกาะติดวิถีคนหาปลานำมาแปรรูปขาย - ช่อง 7
https://ift.tt/2UMPY8X
Home To Blog

No comments:

Post a Comment